การเพิ่มทุนจดทะเบียน และแก้ไขสัญญาสัมปทาน ของ ไอทีวี

ชินคอร์ป ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เป็น 1,200 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 และได้เสนอขายหุ้นของบริษัทฯ แก่ประชาชนทั่วไป

เมื่อ พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็น 7,800 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นการเฉพาะ ให้กับพันธมิตร คือ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สถานีฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ด้วยการปรับผังรายการใหม่ และเพิ่มรายการบันเทิง แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2548 พันธมิตรทั้งสองราย ปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นร่วมทุน แต่ยังคงผลิตรายการให้กับสถานีฯ ต่อไป

ในปี พ.ศ. 2547 ชินคอร์ป ได้ยื่นเรื่องต่อ อนุญาโตตุลาการ[8] ขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า ช่อง 3 สัมปทาน 30 ปี (2533-2563) 3,207 ล้านบาท ปีละ 107 ล้านบาท / ช่อง 7 (BBTV) สัมปทาน 25 ปี (2541-2566) 4,670 ล้านบาท ปีละ 187 ล้านบาท / ททบ. 5 โมเดิร์นไนน์ทีวี และ สทท. ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง) [9]

คณะอนุญาโตตุลาการ ประกอบด้วย ตัวแทนจาก 2 ฝ่าย และคนกลาง รวม 3 คน ได้แก่

  • นายประดิษฐ์ เอกมณี อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ
  • นายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุด (ขณะนั้น) อนุญาโตตุลาการฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี
  • นายจุมพต สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาโตตุลาการฝ่ายสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 30 มกราคม 2547 ลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 และวินิจฉัยให้รัฐ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ทำผิดสัญญา มิได้ให้ความคุ้มครองแก่บริษัทฯ และสถานีฯ ตามที่ได้ทำสัญญาสัมปทานไว้ ในขณะเดียวกัน กองทัพบกต่อสัญญาฉบับใหม่กับ ช่อง 7, อสมท อนุญาตให้ยูบีซี มีโฆษณาได้ และกรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยมีโฆษณาได้ ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อฐานะและรายได้ของบริษัทฯ